วิธีดูพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่

 พระสมเด็จวัดระฆัง เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต) เริ่มสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2387 ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชปัญญาภรณ์(โต) นับถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 170 ปี และเป็นที่น่ารู้น่าสนใจกันมากว่า พระสมเด็จวัดระฆังแท้เป็นอย่างไร จากการดูด้วยตาจากพระสมเด็จวัดระฆังองค์จริง จะดู 1 องค์ 10 องค์ หรือ 100 องค์ จะปรากฎลักษณะดังต่อไปนี้



1.พิมพ์ทรง พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่มีหลายพิมพ์ และแยกง่ายๆ ให้เข้าใจว่า เป็นพิมพ์ใหญ่ A พิมพ์ใหญ่ B พิมพ์ใหญ่ C หรือเรียกว่า พิมพ์ใหญ่ทรงใหญ่ พิมพ์ใหญ่ทรงกลาง พิมพ์ใหญ่ทรงเล็ก และแยกย่อยให้ชัดว่าเป็นพิมพ์พระประธาน อกกระบอก อกผาย อกวี เป็นต้น ตามรูปลักษณะขององค์พระและขนาดของพระ ได้แก่ พิมพ์ใหญ่ A ความสูง 3.3 ซม. พิมพ์ใหญ่ B ความสูง 3.2 ซม. พิมพ์ใหญ่ C ความสูง 3.1 ซ.ม การวัดความสูง วัดจากตรงกลางขอบในเส้นซุ้มโค้งด้านบนสุดลากตรงลงมาจดขอบนอกเส้นซุ้มตรงด้านล่าง ลักษณะเส้นซุ้มองค์พระ ฐานพระ แต่ละพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ถ้าพิมพ์เดียวกันจะเหมือนกันทุกองค์ เพราะกดจากแม่พิมพ์เดียวกัน เช่น เศียรเรียวเล็กคมสะบัดซ้ายขวา จะเหมือนกันทุกองค์ หรือเส้นซุ้มโค้งโย้จะโย้ไปทางเดียว จะมีตำหนิเพียงเล็กน้อย เกิดจากการกดหนักเบา หรือแม่พิมพ์เคลื่อน แม่พิมพ์ตื้น หรือชำรุดจากงานใช้งานมาก



พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ A เกศทะลุซุ้ม เนื้อเหลือง แกร่ง มีคราบฝ้าขาวปกคลุม


พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ B อกวี เนื้อเหลือง เนื้อจัด แห้งย่น มีมวลสารกระจายทั่วองค์พระ


พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ C อกยู เนื้อจัด หนึกนุ่ม มีฝ้าขาวปกคลุมแตกลายงาสวยงามมาก


2.เนื้อพระเก่า เนื่องจากพระสมเด็จวัดระฆัง มีอายุการสร้างประมาณ 146 ปี ความเก่าแก่ ทำให้เนื้อพระแกร่งแห้งย่น แต่หนึกนุ่มนวลตา ไม่แห้งกระด้าง ด้วยเนื้อพระมีปูนเป็นส่วนผสมหลักซึ่งเป็นปูนเก่าหม่นซีด จะมีคราบปูนขับออกมาจากเนื้อพระเป็นคราบหรือฝ้าสีขาวหม่น สีเหลืองเข้ม สีน้ำตาลแก่ ถ้ามีส่วนผสมของเนื้อกล้วยมาก เนื้อพระจะมีสีชมพูอ่อน หรือ เหลืองอ่อน ถ้ามีส่วนผสมของปูนมาก จะเป็นสีขาว บางองค์เนื้อพระจะเป็นสีน้ำตาลเข้มที่เรียกว่า"พระเนื้อจัด" ความเก่าแก่จะต้องดูที่องค์จริงหลายๆ องค์ ดูบ่อยๆ จนติดตา แต่นักโบราณคดีหรือนักธรณีวิทยาเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ วัดค่าความเก่าแก่ของเนื้อปูนด้วยเครื่องมือตามหลักวิทยาศาสตร์พิสูจน์อายุความเก่าได้


พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อพระแกร่งแห้งย่น

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อพระมีคราบฝ้าสีขาวปกคลุม หรือที่เรียกว่าแป้งโรยพิมพ์

3.มีรอยยุบ รอยย่น รอยยับ รอยแยก รอยแตกลาน รอยหลุมบ่อบนเนื้อพระทั้งด้านหน้าด้านหลัง เป็นธรรมชาติความเก่าแก่ตามกาลเวลาอายุร้อยกว่าปี บ่มพระให้เกิดรอยเหล่านี้ขึ้น ที่เห็นชัดเจนได้แก่ พระที่ลงรักเก่ามาแต่เดิม รักเก่าจะหลุดร่อนเองตามกาลเวลาและอายุของรัก เมื่อรักหลุดร่อนจะเห็นเนื้อในมีทั้งรอยยุบ รอยย่น รอยแยก รอยแตกลาน รอยยับ สาเหตุเกิดจากความร้อน ความชื้น บ่มเนื้อพระ เป็นเวลานาน เกิดการหดตัว ขยายตัว และถูกบีบรัด บางองค์จะแตกลายงา ลายสังคโลก บางองค์แตกคล้ายรากผักชี บางองค์แตกอ้าตามขอบพระด้านหลัง ถ้าไปพบพระแตกลานไม่แตกละเอียด อย่าเพิ่งสรุป เพราะพระสมเด็จวัดระฆังที่พบหลายองค์ มีแตกลายงาทั้งละเอียด ทั้งแตกหยาบแตกลานไปทั่วผิวพระ องค์พระ และเส้นซุ้มก็มี ลักษณะการเกิดรอยยุบ ย่น ยับ แยก แตกลาน หลุมบ่อ เป็นจุดชี้ชัดความเก่าแก่และเป็นพระแท้

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อสีน้ำตาลเข้ม เนื้อจัดมาก แตกลายงามีน้ำรักแทรกซึมตามรอยแตก ด้านหลังกาบหมาก

4.ลักษณะของผิวพระสมเด็จวัดระฆัง พระที่ยังไม่ล้างผิว จะมีผิวนอกเป็นชั้นๆ ชั้นนอกจะมีคราบสีน้ำตาลหรือเหลืองแก่ ปกคลุม เรียกว่า "เมือกพระ" ถัดไป จะมีคราบขาวหม่นหรือสีเทาอ่อนๆ ปกคลุมอยู่บางๆ และคราบดังกล่าวจะกลายเป็นเนื้อจริง เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี น้ำปูนจะขับออกมาจากเนื้อพระ บางองค์ลงรักเก่าไว้เมื่อรักหลุดร่อน คราบเหล่านี้ยังปรากฎให้เห็นอยู่ บางคนเรียกว่า "แป้งโรยพิมพ์" และเป็นที่สังเกตถึงความเก่าของเนื้อพระอีกจุดหนึ่ง

5.ความเก่าของรัก พระสมเด็จวัดระฆังที่ลงรักเก่าจะมีสีดำหม่น หรือสีน้ำตาลอมดำ ลักษณะรักเก่าจะหม่นซีดหมดอายุ รักเก่าจะหลุดร่อนออกเองตามธรรมชาติ เพราะหมดอายุ เผยให้เห็นเนื้อพระ มองดูคล้ายกับว่าอ่อนนุ่ม ยุ่ยชื้นและหนึกนุ่มนวลตา ความจริงแข็งแกร่งเหมือนหิน ถ้าแตกลายงาหรือลายสังคโลก น้ำรักที่ซึมแทรกตามรอยแตกปรากฎเส้นเล็กๆ แต่บางค์องค์แตกลานจะไม่ปรากฎเส้นที่มีรักฝังอยู่ ถ้าเอาพระสมเด็จวัดระฆังองค์ที่รักเก่าหลุดร่อน ออกมาจนเห็นเนื้อ นำไปส่องแสงแดดดู จะสะท้อนแสงแดด เป็นประกายแวววับ คล้ายองค์พระเปล่งรัศมีงามจับตา

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ลงรักเก่า เนื้อจัดแกร่ง


6.มวลสาร มวลสารที่ปรากฎบนพระสมเด็จ วัดระฆังทั้งด้านหน้าด้านหลังจะมีมากน้อยบ้างแล้วแต่ส่วนผสม จะมีเม็ดดำ เม็ดแดงจากผงพระซุ้มกอบด มีก้อนสีขาวใส สีขาวขุ่น หรือสีเทาอ่อน แต่แข็งแกร่งฝังอยู่ในเนื้อพระที่เรียกว่า "แร่หิน" และมีผงขาวขุ่น เม็ดก้อนเล็กๆ ที่เรียกว่า "ผงพุทธคุณ" และเม็ดสีขาวอมเหลือง เรียกว่า "เม็ดพระธาตุ" มวลสารเหล่านี้อยู่ในรอยแยกของเนื้อพระ บางทีเม็ดมวลสารเหล่านี้หลุดร่อนออกไป จะเกิดเป็นหลุมบ่อบนพื้นผิวพระทั้งหน้าหลัง ถือเป็นจุดพิจารณาความเก่าแก่ของพระได้เช่นกัน หลุ่มบ่อเหล่านี้มีปรากฎให้เห็นองค์จริงหลายองค์

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้ม เนื้อแกร่ง มีรอยย่นและเป็นหลุมบ่อ เกิดจากการหลุดร่วงของมวลสาร

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ อกกระบอก มีมวลสาร ได้แก่ เม็ดพระธาตุ ผงวิเศษ กระจายอยู่ทั่วองค์พระ
  
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ อกวี เกศทะลุซุ้ม เนื้อจัด มีมวลสารชัดเจน ด้านหลังเป็นหลุมบ่อ เนื่องจากมวลสารหลุดร่อน

7.เนื้องอก เป็นจุดสำคัญที่สุดที่บ่งบอกความเป็นพระสมเด็จแท้ จะมีเฉพาะพระสมเด็จวัดระฆังทุกองค์ที่เก่าถึงยุค ลักษณะเนื้องอกเป็นเม็ดเล็กๆ ผุดขึ้นจากเนื้อพระตามพื้นผิว เส้นซุ้มองค์พระ ฐานพระมีน้อยบ้างมากบ้าง ทั้งด้านหน้าด้านหลัง เป็นเพราะมีส่วนผสมมวลสารเช่นเดียวกับ "พระวัดพลับ" ที่สมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) สร้างเอาไว้ คือ "ผงธาตุสิวลี หรือ ผงวิเศษ" เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต) นำมาคลุกผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ประกอบกับพระสมเด็จวัดระฆัง มีอายุร้อยกว่าปี จะมีเนื้องอกผุดออกจากเนื้อพระ เป็นเม็ดเล็กกลมใส สีชมพูอ่อน สีน้ำตาล สีขาว ตามสีของเนื้อพระ บางทีการงอกจะดันรักเก่าให้หลุดร่อนออกมาเอง
  
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ มีเนื้องอกผุดขึ้นที่หน้าตัก ตรงเข่าซ้ายขององค์พระ เป็นเม็ดกลมใส ประมาณ 5 เม็ด